รีวิวหนังสือ Kafka on the shore
หากจะให้เล่าว่าหนังสือเล่มนี้เขียนหรือพยามบอกเล่าอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากและดูเป็นไปไม่ได้ในการอธิบายเรื่องราวแสน พิลึก กึกกือ ..
แต่ก็พอจะเล่าได้บ้างว่า การเริ่มต้นเรื่องราวอันแสนมหัศจรรย์นั้น เริ่มจาก เด็กชายอายุสิบห้า หนีออกจากบ้าน เรื่องราวแสนธรรมดาสามัญ เด็กอึดอัดกับสภาวะบีบคั้นจากครอบครัว เมื่อทนไม่ไหวก็หนีออกจากบ้าน เรื่องราวที่เเสนธรรมดาเริ่มต้นและสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กคนนั้น “คาฟกา” ได้หนีมาถึง “ทากามัตซึ” ไม่มีเหตุผลพิเศษว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ เพียงแค่ตัดสินใจเดินทางไปที่นี่เท่านั้น
ณ ขณะนั้น “นาคาตะ” ชายชราผู้สามารถพูดคุยกับแมวได้ ก็กำลังรับจ้างตามหา “โมงะ” ลูกแมวที่บังเอิญพลัดหลงจากบ้านหลังหนึ่งอยู่
เรื่องราวสุด พิลึก กึกกือ ของสองหญิงสามชาย จะจบลงแบบไหน ไม่สามารถเล่าได้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากสปอย แต่มันเป็นเรื่องราวที่ไม่รู้จะเล่าอย่างไงเหมือนกัน
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่แฝงสัญลักษณ์ การอุปมา อุปมัย หลายสิ่งหลายอย่าง ข้อความที่ทุกคนถอดได้นั้นอาจเหมือนหรือแตกต่างกันไป สลับซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายด้วยคำใด ๆ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีคนเดินทางจนถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ผมหวังว่าคุณจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยามจะเขียน จะสื่อสาร ซึ่งอาจเข้าใจได้เมื่อคุณเดินทางจนถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือเท่านั้น
อาจเพราะมีเรื่องราวบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบาย หรือไม่อาจทำได้ เว้นแต่จะไปถึงที่นั่นแล้ว
“บางครั้ง ชะตาชีวิตเปรียบเหมือนเช่นพายุ เปลี่ยนทิศวูบวาบ และไล่ตามมาติด ๆ ไม่ว่าจะหักเหไปทิศทางใด พายุก็จะเลี้ยวตามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมหรือ? เพราะพายุไม่ได้มาจากแดนไกล ไม่ได้มาจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวแก พายุ คือ ตัวแก เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวแก…”
“เมื่อพายุหายลับ แกจะจำไม่ได้ว่าแกผ่านพ้นมันมาได้อย่างไร ใช้วิธีไหนพาชีวิตรอดมา แกไม่มีแม้ความมั่นใจใด ๆ อาจเป็นเพราะโชค สิ่งหนึ่งที่แน่ชัด คือ เมื่อผ่านพ้นพายุมาแล้ว แกจะไม่เป็นคนเดิมที่เข้าไป นั่นเป็นแก่นแท้ของพายุ”
หลังอ่านจบผมคิดว่า ทำไมผมพึ่งอ่านเล่มนี้ตอนนี้ แต่กลับมาคิดดูอีกที
อาจดีแล้วที่พึ่งอ่านตอนนี้