ชีวิตหลังจบปริญญาเอก

JB & EXP
2 min readJul 21, 2021

--

จริง ๆ เส้นทางชีวิตหลังจบปริญญาเอกในประเทศไทยมันมีทางเลือกไม่มากนัก ถ้าคุณไม่นับการออกไปทำธุรกิจของตัวเองแล้ว ผมเห็นว่ามีอยู่ราว ๆ สองทางเลือกเท่านั้น

ทางเลือกแรก คือ การไปในภาคเอกชนในบริษัทที่ทำ R&D เช่น เครือปตท. (PTT group) ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ซีพี (CP group) หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งที่สนใจในการหานวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับ ธุรกิจ ซึ่งในไทยมีบริษัทประเภทนี้น้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

การเข้าไปทำงานในบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ นี้ขึ้นอยู่ความสอดคล้องของตัวเรากับองค์กรที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย เขาอาจไม่สนใจเลยว่าเราจบมาด้วยงานตีพิมพ์กี่เปเปอร์ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีค่า impact factor สูงขนาดไหน (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในเชิง academic) ถ้าหัวข้อวิจัยของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ หรือเราเองนั่นที่ชี้ให้เขาเห็นถึงความสอดคล้องของงานวิจัยเราต่อบริษัทนั้น ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำงานร่วมกัน

ข้อดีของการทำงานในลักษณะนี้ คือ เงินเดือนเริ่มต้นสูงมากกว่าทางเลือกที่สองมาก อาจสูงกว่าราว ๆ 2–3 เท่า นอกจากเงินเดือนที่สูงแล้ว การไปทำงานภาคเอกชนมีข้อดีที่เด่นมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ สิ่งที่เราไปทำจะต้อง Execution ออกมาเป็น Product หรือ Operation บางอย่างที่ใช้งานได้จริง ๆ ส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ จริง

ในฐานะผู้วิจัย ถ้าเรื่องที่ทำสามารถเห็นหรือรับรู้ได้ว่ามันส่งผลต่อคนอื่น ๆ ยังไงบ้าง นี่เป็นผลักดันที่จะปลุกเราขึ้นมาในตอนเช้า คาเฟอีนในยามบ่าย และช่วยให้เราทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

ข้อเสียของการทำงานในภาคเอกชน คือ เพดาน เป็นเพดานที่กั้นระหว่างสิ่งที่สามารถทำเงินได้กับทำเงินไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราข้ามไปทำในสิ่งที่ทำเงินไม่ได้เราจะถูกดึงกลับมาทำงานที่สามารถทำเงินได้ ซึ่งบางครั้งก็ซ้ำซากและหาประโยชน์ไม่ได้ ที่จริงผมไม่อยากใช้คำว่า “ซ้ำซากและหาประโยชน์ไม่ได้” เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามเรามักจะเจองานประเภทนี้เสมอ

ทางเลือกที่สอง คือ การไปทำงานในภาคการศึกษา คือ การไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยในสังกัดของมหาวิทยาลัย ซึ่งเราจะได้ทำวิจัยและสอนไปด้วย โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของไทยนั้นบังคับอาจารย์ต้องทำวิจัย จากเมื่อก่อนที่การทำวิจัย คือ งานอดิเรก มีทรัพยากรให้แต่ไม่บังคับ ปัจจุบันการทำวิจัยเป็นงานหลักถัดจากงานสอนของอาจารย์ซะแล้ว ไม่ใช่ว่าเลือกได้ว่าอยากทำหรือไม่อยากทำ แต่ต้องทำเพื่อให้ตัวเองได้ทำหน้าที่ต่อไป สำหรับอาจารย์บางคนนี่อาจเป็นสรวงสวรรค์ แต่สำหรับบางคนนี่อาจเป็นขุมนรก มีข้อถกเถียงทั้งสองแง่มุมว่าควรหรือไม่ควรบังคับอาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัย

บ้างก็ว่าไม่ควรให้อาจารย์ที่ชอบสอนและสอนได้ดีก็ควรจะตั้งใจสอนต่อไป เพราะ อย่างไร หน้าที่หลักของอาจารย์ คือ การสอน ควรวัด performance จากตรงนั้น

บ้างก็ว่าควร จากกระแส E-learning คือ ผู้เรียนจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็สามารถเข้าถึงการเรียนจาก U ดัง ๆ ของโลกผ่าน internet ได้ทั้งนั้น แบบนี้การทำวิจัยจะเป็นการสร้าง Uniqueable ของผู้สอน คือ แต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมี first hand knowledge เฉพาะให้กับผู้เรียนแบบที่ไปหาที่ไหนไม่ได้

อย่างไรก็ประเด็นดังกล่าวยังคงถูกถกเถียงอย่างมากในสังคมทั้งในหมู่ผู้ที่เป็นอาจารย์ และคนทั่วไป และยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด

กลับมาเรื่องการเข้าทำงานอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปต้องรอประกาศรับสมัครจากทางมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ในปัจจุบันประมาณ 95% ต้องจบปริญญาเอก และส่วนใหญ่ต้องจบตรงสาย เช่น จะไปสอนวิศวกรรมไฟฟ้า ก็ต้องจบปริญญาตรี-เอก วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการข้ามสายวิชาการ แต่ในขณะที่ปัจจุบันความรู้ส่วนใหญ่ต้องการการบูรณาการ คือ การใช้ความรู้ข้ามสายงานไขว้กันไปมาเหมือนใยแมงมุม

นอกจากนี้ข้อจำกัดอีกด้าน คือ เงินเดือนที่ต่ำกว่าภาคเอกชนเด่นชัดทำให้ คนที่มีความสามารถสูง ๆ สามารถไปทำงานต่างประเทศหรือเอกชนถูกดึงดูดไปได้โดยง่าย

ข้อดีของการทำงานเป็นอาจารย์ คือ ยืดหยุ่นในการออกแบบทั้งการสอนและการทำวิจัย โดยการทำวิจัยนั้นไม่จำเป็นต้องมุ่งไปสู่การทำเงินเท่านั้นยังสามารถทำเพื่อดับกระหายต่อความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองได้ด้วย

กล่าวคือ การทำงานเป็นอาจารย์ เป็นงานที่ดีสำหรับผู้ที่ลุ่มหลงในอะไรสักอย่าง (ที่ยังทำเงินไม่ได้) และชอบที่จะถ่ายทอดความรู้ เช่น ไอสไตน์ที่ลุ่มหลงในแสงและเวลา สิ่งที่ไอสไตน์ค้นพบไม่สามารถเอาไปขายเหมือน iphone ได้แต่ดับกระหายต่อความสงสัยใคร่รู้ได้

นอกจากนี้หลังจบปริญญาเอก ทางมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศสามารถให้ทุนกับผู้ที่จบเพื่อทำวิจัยให้กับทางมหาวิทยาลัยต่อได้ เรียกเต็ม ๆ ว่า Post doctoral fellowship หรือเรียกสั้นว่า Post doc. คือ ต้องจบปริญญาเอกและไม่ได้เป็นอาจารย์ถึงจะสามารถสมัครได้ โดยถือพนักงานของมหาวิทยาลัยที่สมัคร มีเงินเดือนให้ และค่าวิจัยให้แล้วแต่เงื่อนไขเฉพาะของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

ส่วนใหญ่จะเซ็นต์สัญญากันปีต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตีพิมพ์อย่างน้อย 1–2 งานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ ถึงจะสามารถปิดทุนหรือเซ็นต์สัญญาปีต่อไปได้

เอาจริง ๆ คือ Post doc. ในไทยก็มีแค่ไม่กี่มหาวิทยาลัยใหญ่ เช่น จุฬา, บางมด, มหิดล เป็นต้น เงินเดินของ Post doc อยู่ที่ประมาณ 30,000–60,000 บาท/เดือน ซึ่งเอาจริง ๆ มากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เริ่มต้นประมาณ 30,000–3x,xxx บาท/เดือน

แต่อย่างว่า ความมั่นคงของ Post doc มีต่ำกว่าอาจารย์มาก ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยตีพิมพ์ได้ (paper) ได้ก็จะได้รับเงินอุนหนุนทางวิชาการเพิ่ม เหมือนนักบอลที่ได้รับการอีดฉีดตอนที่ยิงประตูได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปขอตำแหน่งทางวิชาการต่อได้ (ซึ่งเมื่อได้จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มอีก) ซึ่งจะทำให้รายรับโดยรวมสูงกว่า Post doc อย่างเทียบไม่ได้ในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม Post doc เป็นอาชีพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนที่จบปริญญาเอกหางานได้อย่างไร้รอยต่อ ในต่างประเทศบางที่คนที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นต้องผ่าน Post doc ของมหาวิทยาลัยนั้นมาก่อนเท่านั้น คือ เป็น career part ของตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมว่าก็ดีเหมือนกันสำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการอาจารย์ที่ทำวิจัยเป็นจริง ๆ เหมือนเป็นการทดลองงานไปก่อน

อย่างไรก็ตามดูเหมือนอาชีพหลังจบปริญญาเอกมีทางเลือกที่น้อย แต่ในทางกลับกันคู่แข่งก็น้อยด้วย ดังนั้นการจบปริญญาเอกเป็นทั้งคำสาปและพระพรของผู้เรียนจบ และผมแชร์เรื่องนี้ในมุมมองของผู้ที่เรียนจบมาเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงถ้าผมเห็นเรื่องนี้ในมุมที่ต่างออกไป คงจะมีโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สวัสดีครับ

--

--

JB & EXP

Lecturer and Researcher in Mechatronics and Medical Engineering.